รมว.ศธ.ยันการศึกษาต้องเป็นวาระแห่งชาติ เร่งแก้ให้ทันประเทศพัฒนา

26 กันยายน 2556

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 25 กันยายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงเรื่องการจัดซื้อแท็บเล็ตว่า การซื้อแท็บเล็ตให้แก่เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 จากผลการสำรวจ ร้อยละ 96.72 นักเรียนเชื่อว่าแท็บเล็ตมีประโยชน์ต่อการศึกษา แต่ก็ยอมรับว่าเกิดปัญหาในขั้นตอนการจัดซื้อ ทางเทคนิคและวิธีการ การประมูลแท็บเล็ตครั้งล่าสุด ทางกระทรวงศึกษาธิการได้แบ่งโซนพื้นที่รับผิดชอบเพื่อดูแลการแจกจ่ายแท็บเล็ตแต่ละพื้นที่ ซึ่งน่าจะเกิดวามสะดวกมากกว่าการดูแลทั้งประเทศ ซึ่งคงจะได้มีการสำรวจความเห็น ข้อสรุปว่าวิธีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์มากกว่าได้หรือไม่ ทั้งนี้ การใช้แท็บเล็ตของนักเรียนอาจยังเกิดปัญหาด้านการใช้งานที่ถูกต้อง แต่ตนอยากให้คำนึงถึงความล่าช้าของนักเรียนต่อการเข้าถึงระบบการศึกษามากกว่า โดยในอนาคตทางกระทรวงศึกษาธิการจะได้สร้างมาตรฐานเนื้อหาการศึกษา และจัดทำแผนแม่บทเพื่อครอบคลุมกับการใช้ในอนาคตทุกชั้นวิชา และอุปกรณ์เพื่อการศึกษาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากแท็บเล็ต

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนกองทุนตั้งตัวได้ นายกฯได้กำชับเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้ได้มีร่างระเบียบออกมาแล้ว คาดว่าเดือนตุลาคมน่าจะจ่ายเงินได้ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังมีแผนการทำกองทุนตั้งตัวได้สำหรับเด็กอาชีวะด้วย จึงเชื่อว่าเงินกองทุนตั้งตัวได้รวมกับงวดแรกเป็นจำนวน 6,000 กว่าล้านบาท จะสร้างผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นตามที่วางไว้ ขณะที่การปรับลดงบประมาณกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น ยอมรับว่าเกิดปัญหาการทำงานหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินกู้ แต่ยังเกิดปัญหาช่องโหว่การให้อำนาจสถานศึกษาเป็นผู้พิจารณานักเรียนสมควรได้รับการกู้ยืม ซึ่งอาจไม่ทั่วถึงสำหรับผู้จำเป็น รวมถึงการบริหารจัดการใช้เงินของผู้กู้ก็มีปัญหา ขณะเดียวกัน ก็เกิดหนี้เสียสูงและต้นทุนบริหารหนี้ยังเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงศึกษาธิการจะได้มีการหารือเพื่อทบทวนความคิดกันใหม่ และจะได้มีการประสานเชื่อมโยงกับการกู้แบบ กรอ. ซึ่งเป็นกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตร่วมด้วย

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาเด็กให้อ่านออกเขียนได้ โดยผลการสุ่มตรวจวัดเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 6 โดยกระทรวงศึกษาธิการพบว่า ยังมีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเราควรมองปัญหาที่ระบบการศึกษา ไม่ใช่ปัญหารัฐบาล เพราะถึงแม้รัฐบาลจะมุ่งเน้นให้การศึกษาเต็มที่ 1 ปี ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะรับได้หมด เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นปัญหาร่วมกัน ซึ่งถึงแม้การจัดอันดับของ The World Economic Forum หรือการวัดความเห็นของนักธุรกิจในอาเซียนจะจัดอันดับการศึกษาไทยให้อยู่ในลำดับที่ 8 แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการเองก็ยังจะต้องปรับปรุงและแก้ปัญหาการศึกษาอีกมาก เพื่อให้ทันกับประเทศพัฒนา และเห็นว่าควรจัดเป็นวาระแห่งชาติต่อไปด้วย

Source – มติชนออนไลน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34254&Key=hotnews