เผยข้อมูลตอกย้ำปัญหาการอาชีวะไทย

27 กันยายน 2556

ผลการเก็บข้อมูลการอาชีวศึกษา  5 ภูมิภาค พบปัญหาเพียบทั้งขาดแคลนบุคลากร ครุภัณฑ์เก่าเก็บ คุณภาพผู้เรียนไม่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ เตรียมวิพากษ์สรุปอีกครั้ง 30 ก.ย.นี้
วานนี้ (26ก.ย.) ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) มอบหมายให้ มจพ. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ดำเนินการศึกษาสถานการณ์อาชีวศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาอาชีวศึกษาของประเทศนั้น ที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่รับฟังความเห็นและตรวจเยี่ยมสถานศึกษา เพื่อรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือไปแล้ว ล่าสุดได้มีการรับฟังความเห็นในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้ก็พบลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกันกับ 3 ภูมิภาคก่อน คือ กำลังจะมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร ครูผู้สอนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ5 ปีข้างหน้า เพราะครูอาวุโสที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติจะเกษียณอายุราชการเป็นจำนวนมาก ขณะที่ครูที่มีอยู่และครูรุ่นใหม่ทั้งของรัฐและเอกชนจะขาดประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการ เนื่องจากส่วนใหญ่เมื่อเรียบจบแล้วจะเข้ามาเป็นครูทันทีทำให้ไม่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่สอนเท่าที่ควร อีกทั้งครูอัตราจ้างรายปีก็ไม่มีความมั่นคง มีการเข้าออกบ่อยทำให้การเรียนการสอนขาดความต่อเนื่อง

ศ.ดร.ธีรวุฒิกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของครุภัณฑ์อาชีวศึกษาก็มีปัญหามาก เพราะส่วนใหญ่เป็นครุภัณฑ์เก่า ล้าสมัย ขณะที่ครุภัณฑ์ที่มีการจัดซื้อตามโครงการไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ก็จัดให้บางสถานศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่บางแห่งกลับไม่ได้รับเลย ที่สำคัญครุภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับ ส่วนมากจะไม่สามารถใช้สอนได้ เพราะไม่ตรงตามหลักสูตรรายวิชา จึงต้องนำไปกองทิ้งไว้ทำให้เสียพื้นที่ที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากส่วนกลางเป็นผู้จัดซื้อให้สถานศึกษาโดยไม่ได้พิจารณาความต้องการของสถานศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กอาชีวะปัจจุบันมีความรู้รอบตัวค่อนข้างน้อย รวมถึงทักษะภาษาไทยด้วย และผู้จบการศึกษาในภาพรวมมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ทำให้ต้องการรับผู้ที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) หรือ ปริญญาตรี เข้าทำงานมากกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) เพราะบรรลุนิติภาวะและมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า

“สำหรับการเปิดอาชีวศึกษาอำเภอตามแนวคิด 1อำเภอ 1อาชีวศึกษา หรือวิทยาลัยแห่งที่ 2 นั้น ผู้แทนสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งของเอกชนและรัฐบาล โดยเฉพาะวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยการอาชีพมีความเห็นตรงกันกับทุกภาคว่า ไม่เห็นด้วย เพราะกลุ่มเป้าหมายก็เป็นกลุ่มเดียวกัน จึงเสนอว่าควรพัฒนาสถานศึกษาที่มีอยู่แล้วให้ดีก่อน หรือสร้างหอพักเพื่อให้ทุนแก่เด็กจากตำบลต่าง ๆ เข้ามาเรียนน่าจะคุ้มค่ากว่าการไปลงทุนตั้งสถานศึกษาใหม่แล้วต้องมาแย่งเด็กกันเอง”ศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าวและว่า ทั้งนี้จะมีการจัดประชุมเพื่อวิพากษ์และสรุปภาพรวมการจัดการอาชีวศึกษาทั้งหมดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ที่ มจพ. โดยจะเชิญตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความเห็นอีกครั้งก่อนที่จะสรุปแนวทางแก้ไขปัญหา และ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาการอาชีวศึกษาของประเทศต่อรมว.ศธ.ต่อไป

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34267&Key=hotnews