เสวนาขับเคลื่อนนโยบาย ศธ.

22 พฤศจิกายน 2556

จากการเสวน “แนวคิดสู่การพัฒนา ปัญหาไม่ใช่อุปสรรค” ในการประชุมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ การรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา ปี 2556 เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.เอนก ล่วงลือ ผอ.กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพฐ.) ปทุมธานี เขต1 กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้การศึกษาสำเร็จก้าวหน้าอยู่ที่ตัวครู ซึ่งเวลานี้เห็นว่าครูเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะสอนเด็กในแต่ละช่วงวัย ตามหลักสูตรที่กำหนดขึ้น แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการสอนของครูคือการขาดเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่จะดึงความสนใจให้เด็กเข้าห้องเรียนและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และการขาดขวัญและกำลังใจที่ดีที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าของงาน เป็นผลให้ครูไม่ปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นขวัญและกำลังใจครูให้ฮึกเหิมในการทำงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ เพราะตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษามาเป็นเขตการศึกษาผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนของเด็กและคุณภาพของครูก็ลดลงโดยตลอด

ด้าน ดร.สมชัย ชวลิตธาดา ผอ.โรงเรียนเอกชัย จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดก็ต่อเมื่อมีการประกาศผลจัดอันดับการศึกษาระดับประเทศ หรือมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ จากนั้นก็เงียบหายไปเป็นระยะ อย่างไรก็ตามหากพูดถึงนโยบายด้านการศึกษาแล้วอยากให้พิจารณาว่า ทุกครั้งที่มีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาลงมาสู่โรงเรียน ควรวิเคราะห์ก่อนว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีนโยบายด้านการศึกษาจากหลายกระทรวงไม่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้นที่ลงมาสู่โรงเรียน จึงต้องพิจารณาก่อนว่าเหมาะกับสภาพปัญหาของโรงเรียนหรือไม่ เพราะนโยบายบางอย่างก็เหมาะสมกับบางโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งหากนโยบายใดตรงกับสภาพปัญหาของโรงเรียนก็ควรทำเต็มที่ แต่หากไม่ค่อยตรงก็จะทำพอประมาณ แต่ทั้งนี้ต้องถ่ายทอดและทำความเข้าใจกับครูให้ชัดเจนก่อนเพื่อไม่ให้เกิดกระแสการต่อต้าน โดยให้ครูร่วมเป็นผู้กำหนดเป้าหมายที่จะนำนโยบายไปสู่ความสำเร็จด้วยตนเอง

ทุกวันนี้การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นเหมือนไฟไหมฟาง คือ ทำเป็นงานๆ ให้แล้วเสร็จ ซึ่งการทำลักษณะนี้จะได้ผลชั่วคราวเท่านั้นไม่ยั่งยืน จึงมองว่าหากจะแก้ปัญหาต้องคิดให้ยาวอย่างเป็นระบบ โดยต้องวางแผนตั้งแต่ต้นเช่นการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกก็ไม่ใช่ระดมการซ่อมเสริมเท่านั้น เพราะต้องทำกันทุกปีแต่จะต้องวางระบบอย่างไรให้เด็กอ่านได้โดยไม่ต้องซ่อมเลยจะดีกว่า” ดร.สมชัย กล่าว

ด้านนายคณิน นาคะไพบูลย์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาในเวลานี้คือไม่ได้มีการคุยกันให้ชัดเจนเรื่องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพราะขณะนี้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยมากจะจัดสอบตรง ทำให้เด็กต้องเลือกวิธีกวดวิชาเพื่อให้สอบได้ เพราะหากมัวแต่เรียนในระบบคงสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ส่วนเรื่องการสอนให้เด็กคิดเป็นนั้นเป็นเรื่องที่ดีแต่ตัวครูไม่เข้าใจเรื่องการสอนวิเคราะห์จึงมุ่งแต่จะหารายได้ด้วยการสอนกวดวิชา รวมถึงการให้เกรดเทียมกับเด็กเพื่อไม่ให้เป็นเป้าสายตาว่าสอนเด็กไม่มีคุณภาพ

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34905&Key=hotnews