อาชีวะเอกชนหนุนจัดทวิภาคีชู 1 สถานประกอบการ 1 ทุน – เน้นจบแล้วมีงานทำ

25 พฤศจิกายน 2556

คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษา ตั้งคณะทำงานแก้ไขอุปสรรคในการจัดการศึกษาเอกชน เพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาเอกชน เตรียมจัดทวิภาคี 100% หนุนโครงการ 1 สถานประกอบการ 1 ทุน หรือ 1 ตำบล 1 ทุน จูงใจและส่งเสริมคนมาเรียนอาชีวะเพราะได้เรียนฟรี เรียนจบแล้วมีงานทำในสถานประกอบการ

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การจัดการศึกษาของเอกชน ที่ขณะนี้ประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐ ปัญหาการคิดอัตราภาษีโรงเรือน ซึ่งปัจจุบันการคิดอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้ผลการประเมินมีความหลากหลาย อีกทั้งอัตราภาษีก็คิดในรูปแบบธุรกิจบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานศึกษา เนื่องจากการจัดธุรกิจการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่มีรายได้เหมือนธุรกิจบริการต่างๆ ที่มีรายได้มาก

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ระหว่างประสานกรมสรรพากร เพื่อขอให้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีอากรการโอนภาษีที่ดินให้แก่สถานศึกษาเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอขอให้คิดในอัตราต่ำสุดที่ 1-2% ขณะเดียวกันยังมีปัญหาในเรื่องการเสียภาษีนำเข้าสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยจากต่างประเทศ ที่มีการคิดในอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่เสนอว่าอยากให้มีการลดหย่อนภาษี หรือคิดในอัตราภาษีการศึกษาแทน

“ขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากสถานประกอบการด้วยว่า การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีนั้น ยังไม่มีผู้เรียนเข้าร่วมตามเป้าหมายอย่างพอเพียง จึงเสนอว่าอยากให้อาชีวศึกษาเอกชนเข้าร่วมกับสถานประกอบการในการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี 100% นอกจากนี้มีข้อเสนอด้วยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่สถานประกอบการในตำบลหรือในจังหวัดที่อยากได้คนเข้าทำงานจัดสรรทุนให้เด็กอาชีวะ โดยทำเป็นโครงการ 1 สถานประกอบการ 1 ทุน หรือ 1 ตำบล 1 ทุน ซึ่งจะมีรูปแบบคล้าย 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งจะเป็นการจูงใจและส่งเสริมคนมาเรียนอาชีวะ เพราะได้เรียนฟรี หรืออาจจะจูงใจว่า เมื่อมาเรียนจบแล้วมีงานทำในสถานประกอบการด้วย” ปลัด ศธ.กล่าว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความล่าช้าในเรื่องการขออนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอนของ โรงเรียนเอกชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรจะไปทบทวนและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหากจำเป็น ที่ต้องแก้ไขเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากปัญหาต่างๆ ที่ประชุมจึงได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อดูแล ได้แก่ คณะทำงานที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาภาษีโรงเรือน การลดหย่อนภาษี คณะทำงานดูแลกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษาเอกชน คณะทำงานที่ส่งเสริมการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งจะรวมถึงการดูแลการจัดการศึกษาให้ได้คุณภาพมาตรฐานและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาเอกชนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34921&Key=hotnews